DataCon2024

Talk-Natthaphong Ruengpanyawut

activity Talk-Natthaphong Ruengpanyawut

Talk-Natthaphong Ruengpanyawut

09.10.2024

อีกหนึ่งทีมสปีกเกอร์ช่วง Talk ของงาน Data Con 2024 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ซึ่งมานำเสนอในหัวข้อ “Data เพื่อประชาธิปไตยที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม”

การใช้เทคโนโลยีและการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสจะช่วยแก้ไขปัญหาระบบประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว

DSC08518.jpg

ปัจจุบันหลายคนรู้จัก ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชน แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ณัฐพงษ์ ทำงานในสายเทคโนโลยีมาโดยตลอด และเมื่อก้าวเข้ามาทำงานการเมืองเขาก็ได้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ก้าว Geek’ ขึ้นมา เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาเชื่อมต่อกัน เสนอไอเดีย ทำโปรเจกต์ต่างๆ ร่วมกัน และหนึ่งในนั้นที่ถือเป็นความร่วมมือและความพยายามสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชนก็คือการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณที่แปลงจาก PDF เป็น CSV ที่สามารถนำไปวิเคราะห์งบประมาณต่างๆ ได้ 


“ผมเชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาระบบประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยวให้กลับเข้ามาสู่ประชาธิปไตยในโลกอุดมคติแบบที่พวกเรามองเห็นและอยากให้เป็น”


การใช้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การที่ประชาชนทุกคนจะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกฎกติกา ออกแบบกฎหมายที่บังคับใช้ในประเทศได้จริง รวมถึงการเอาข้อมูลมาทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการใช้งบประมาณของรัฐได้อย่างไร คือโจทย์ใหญ่ของเนิร์ดสายเทคที่ก้าวเข้ามาสู่สนามการเมืองอย่างณัฐพงษ์ สำหรับเขาการจะสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาได้ ประกอบได้ด้วย 3 โจทย์ที่สำคัญคือ 


ข้อมูลกับงบประมาณ

ข้อมูลกับนักการเมือง

และข้อมูลกับตัวบทกฎหมาย


ข้อมูลกับงบประมาณ


“ในประเด็นเรื่องข้อมูลกับการเปิดเผยการใช้จ่ายงบประมาณ ผมมีตัวอย่างดีๆ จากเกาหลีใต้ ที่ได้ไปศึกษาดูงานด้วยตัวเองในขณะที่อยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการติดตามงบฯ พบว่าเขามีระบบตัวนึงที่น่าสนใจมากชื่อว่า ระบบ KONEPS (Korea ON-line E-Procurement System) เป็นระบบที่คล้ายเว็บ Shopee Lazada ภาครัฐ เวลาหน่วยงานในประเทศเกาหลี อยากซื้อของสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นถาดหลุม ลู่วิ่ง รองเท้าบู๊ต กางเกงในที่ใช้ในกองทัพ หรือเสาไฟโซลาร์ต่างๆ เขาไม่มานั่งผ่านกระบวนการในการยกร่าง TOR ต้องประกาศจัดซื้อจัดจ้าง คัดเลือกผู้รับเหมา เซ็นร่างสัญญา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาหลายเดือน เขาแค่เข้าไปในเว็บนี้ แล้วหน่วยงานของรัฐก็เลือกติ๊ก เหมือนเวลาเราซื้อของออนไลน์ได้เลย ซึ่ง 64% ของการจัดซื้อจัดจ้างในเกาหลี เป็นการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ซื้อได้ผ่านระบบ KONEPS เราจะเห็นบนแผนภาพ PPS ก็คือ Public Procurement Service ของเกาหลีใต้ ทำหน้าที่เป็นแผนกจัดซื้อของรัฐบาล ใครก็ตามที่ต้องการขายของสำเร็จรูปให้ภาครัฐก็มาเสนอขายเอาของขึ้นหน้าเว็บกับ PPS PPS ก็จะทำหน้าที่ในการคัดคุณภาพ เอาของไปทดสอบที่แล็บ รวมถึงตรวจสอบราคาว่ามีความเหมาะสม ถ้าทุกอย่างผ่านเกณฑ์ก็เอาของขึ้นเว็บไซต์ เมื่อหน่วยงานภาครัฐต้องการซื้อของ ก็มากดช้อปปิ้งได้เลย” 


ณัฐพงษ์ เล่าต่อไปว่าปัจจุบันประเทศไทยใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จะเห็นว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไทยในปัจจุบัน แบ่งด้วยวิธีการคัดเลือกผู้รับเหมา แต่เกาหลีแบ่งด้วยรูปแบบของสินค้าและบริการ หากเป็นสินค้าและบริการสำเร็จรูปไปใช้ระบบ KONEPS ที่เหลืออีก 36% ค่อยมายกร่าง TOR 


“วิธีการแบบเกาหลี จะแก้ปัญหาสองเรื่องไปด้วยกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ด้วย อย่างแรกคือเรื่องของประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างที่บอกไปแล้ว กว่าจะยกร่าง TOR กว่าจะประกาศ ประกวดราคา ได้ผู้รับเหมา มันกินเวลา 3-4 เดือน การที่เราเปลี่ยนไปใช้ระบบ KONEPS หรือ Shopee Lazada ภาครัฐ เหลือเวลาแค่ 1 วัน จิ้มปุ๊บ ของมาเลย หนึ่งคือเพิ่มประสิทธิภาพ สอง คือลดการทุจริตคอร์รัปชัน เชื่อว่าแทบจะเป็นศูนย์ได้เลย สาเหตุที่บอกอย่างนี้เพราะทุกวันนี้ ช่องโหว่ของการทุจริตคอร์รัปชันคือ การยกร่าง TOR ซึ่งเปิดช่องให้สามารถเขียนเงื่อนไขกีดกันผู้เข้าแข่งขันรายอื่น กำหนดสเป็กของ เช่น ถาดหลุม ขอกว้างเพิ่มอีก 2 ซม. ไม่มีในตลาด ต้องจ้างผลิต หรือกีดกันคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลคนอื่น เช่น ต้องมีผลงานในอดีตกี่ปีขึ้นไป


“ตราบใดที่เรายังมีการเอาคนไปอยู่ในสมการในการตัดสินใจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก็จะมีการทุจริตคอร์รัปชันได้ทุกขั้นตอน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ผ่านระบบ KONEPS ของเกาหลีใต้จะช่วยป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างได้มากมายมโหฬาร ลองคำนวณคร่าวๆ น่าจะช่วยประหยัดงบประมาณไปได้หลายแสนล้านต่อปี


นี่ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลของของที่อยากจะขายให้กับภาครัฐ กับข้อมูลความต้องการว่าหน่วยงานรัฐคนไหนอยากจะซื้อบ้าง เข้าถึงข้อมูลตลาดตรงกลางได้ร่วมกัน จะช่วยให้เราประหยัดเงินภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างดียิ่งขึ้น 


“นอกจากเรื่องของประสิทธิภาพและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ผมเชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ยกตัวอย่าง Decidim.org ซึ่งเป็น แพลตฟอร์ม open source ของสเปน มีการนำไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งนำไปใช้ ลองจินตนาการว่าในอนาคต เราในฐานะประชาชน ไม่ว่าต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ไม่ว่าเขตเทศบาล หรือ อบต.ไหน เราสามารถคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ของเทศบาลนั้น แล้วบอกได้ว่า ปีงบประมาณนี้ เทศบาลมีงบให้ 100 ร้อยล้านบาท แต่ขอแบ่งมา 5 ล้านบาทในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจว่าอยากจะไปสร้างถนนตรงไหนก่อน อยากจะไปทำสนามกีฬา หรือสวนสาธารณะที่ไหนก่อน แพลตฟอร์มลักษณะนี้จะกระตุ้นทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นและทำให้ประชาชนรู้สึกยึดโยงกับการใช้งบประมาณ เป็นเจ้าของท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น” 

DSC08563.jpg

ข้อมูลกับนักการเมือง


ในประเด็นที่สองเรื่อง ‘ข้อมูลกับนักการเมือง’ ณัฐพงษ์ กล่าวถึงเว็บไซต์ parliamentwatch ซึ่งจัดทำโดย WeVis โดยเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยผลักดันให้รัฐสภาเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่นำมาใช้ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์นี้


“ถ้าท่านใดเคยมีคำถามว่า สส.ที่เราเลือกไปเข้าประชุมสภามากน้อยขนาดไหน ลงมติโหวตอะไร หรือการประชุมในกรรมาธิการ แอบปิดประตูคุยกันหรือไม่ ไม่ยอมไลฟ์สด บนเว็บไซต์ parliamentwatch จะบอกข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมด รวมถึงมีฟังก์ชันในการติดตามสถานะกฎหมายด้วย อย่างกรณี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่เพิ่งผ่านไป ที่ทุกคนให้ความสนใจ รวมถึงการติดตามคำสัญญาที่พรรคการเมืองให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง เคยบอกว่าจะทำนโยบายอะไรบ้าง หลังเลือกตั้งมีอำนาจเข้าสู่สภาไปแล้ว ได้เคยเสนอร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ เหล่านั้นหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่เว็บไซต์ parliamentwatch จะแสดงให้เราเห็นทั้งหมด


“การเปิดเผยข้อมูลอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอกับชีวิตประจำวันปัจจุบันของพวกเรา เราอาจจะมีหน้าที่การงานประจำทุกวัน ไม่มีโอกาสได้เข้ามาเปิดเว็บไซต์นี้ดูตลอดเวลา จะดีกว่าไหมถ้าในอนาคตภาครัฐมีแพลตฟอร์มลักษณะเดียวกันแล้วเปิดให้ประชาชนเข้าไป subscribe ได้ ผมอยากติดตามการทำงานของ สส. ในเขตผม อยากรู้ว่าวันนี้ขาดประชุม แจ้งเตือนผมหน่อย อยากจะรู้ว่าวันนี้ สส.โหวตกฎหมายอะไร บอกผมนิดนึง หรือผมสนใจกฎหมายฉบับนี้เข้าไปกดติดตาม ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะ ส่งแจ้งเตือนมาบอกเราเลย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราสามารถพัฒนาบริการต่อยอดได้ จากการเปิดเผยข้อมูลและนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้ เพื่อจะยกระดับการทำงานของนักการเมืองให้อยู่ในสายตาของประชาชนมากยิ่งขึ้น”


ข้อมูลกับตัวบทกฎหมาย


จากนั้นในประเด็นสุดท้ายเรื่อง ‘ข้อมูลกับกฎหมาย’ ณัฐพงษ์ เล่าถึงโปรเจกต์ที่ทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ในการเปิดเผยข้อมูลบันทึกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน 


“รัฐธรรมนูญปี 60 ที่เราได้ยินกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงที่ทำให้นายกรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งไปแล้ว มีพรรคการเมืองถูกยุบพรรคไปแล้ว ใครเคยมีคำถามว่าการคัดเลือก สว. เขาคิดกันมาอย่างไร การออกแบบศาล องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ เขาคิดกันมาอย่างไร รวมถึงประเด็นที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาที่รัฐสภาต้องเลือกนายกฯ ตกลงว่าโหวตซ้ำได้หรือไม่ เจตนารมณ์จริงๆ ของผู้ยกร่างเขาออกแบบมาอย่างไร เราดูที่เว็บไซต์ห้องสมุดรัฐสภา (https://cons60-library.parliament.go.th/) ได้เลย ในเว็บไซต์จะมีการจัดกลุ่มข้อมูลให้ดูได้ง่าย ตามหมวด ตามผู้ยกร่าง จากข้อมูลจะเห็นว่า คุณมีชัย เป็นผู้มีส่วนร่วมมากที่สุดในการเข้าไปอภิปรายยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา นอกเหนือจากตัวบันทึก เราเพิ่งได้ข้อมูลใหม่มาล่าสุด คือข้อมูลรายงานชวเลข จดพยางค์ต่อพยางค์ คำต่อคำ เช่น คำว่า ครับ คะ ขา จดทุกคำทุกพยางค์ เราได้ข้อมูลชวเลขมาแล้ว และพยายามจะแปลงข้อมูลชวเลขต่างๆ ขึ้นหน้าเว็บไซต์ต่อไปในอนาคต นี่ก็เป็นข้อมูลที่เราได้รับมาและเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาโปรเจกต์ต่อยอดได้” 

Hed-15 (1).jpg

ไม่เพียงเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญเท่านั้น ณัฐพงษ์ยังบอกอีกว่าเขาอยากให้ในอนาคต กฎหมาย พ.ร.บ. ระเบียบ ประกาศกระทรวง ที่มีคณะกรรมการต่างๆ ในกฤษฎีกา หรือในกระทรวงต่างๆ ยกร่างกันขึ้นมา เปิดเผยข้อมูลแบบนี้บนแพลตฟอร์มเดียวกันของรัฐได้ ซึ่งจะทำให้ภาคประชาสังคมเข้าไปสืบค้นข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอยากให้มี centralize แพลตฟอร์มที่ไม่ได้เปิดเผยเฉพาะตัวบทกฎหมายแต่เปิดเผยบันทึกรวมถึงรายงานชวเลขที่จดคำต่อคำ เพื่อให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของผู้ยกร่างด้วย


“ถ้าเราเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เรื่องของเอไอกฎหมาย นอกเหนือจากตัวบท เจตนารมณ์ผู้ยกร่าง แนวคำวินิจฉัยของศาลที่เกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนั้นด้วย ก็อยากจะให้เอไอเข้าไปเรียนรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย หรือให้เอไอเรียนรู้ถึงคำอภิปราย การลงมติของพรรคแต่ละพรรค ถ้าเอไอรู้ถึงประวัติศาสตร์การเมือง รู้ถึงจุดยืนของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ว่าก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมายฉบับนี้ผ่านการถกเถียงอะไรกันมาบ้าง ถ้ามีเอไอที่เข้าถึงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้ทั้งหมด ต่อไปไม่เฉพาะประชาชนที่จะเข้าถึงกฎหมายได้โดยสะดวก รู้ถึงประวัติศาสตร์ที่มา สอบถามได้ทุกเรื่องแล้ว ผมใน สส. คนหนึ่งต่อไปเมื่อจะยกร่างกฎหมายก็สามารถจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


“ตัวอย่างเช่น เรื่องสมรสเท่าเทียม ผมสามารถบอกเอไอว่าผมอยากแก้กฎหมายให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพใด มีสิทธิก่อร่างสร้างครอบครัว ได้รับสิทธิและสวัสดิการเหมือนกัน เอไอสามารถบอกผมได้เลยว่าต้องแก้กฎหมายจากฉบับนี้ เป็นอะไรบ้าง เปลี่ยนจากชายหญิงเป็นคำว่าบุคคลต่อบุคคล หรือจะต้องแก้กฎหมายฉบับอื่นใดตามกันมาบ้าง การที่เปิดเผยข้อมูลแบบนี้ออกมาครบทุกส่วนก็จะทำให้เราสามารถพัฒนาเอไอเพื่อต่อยอดไปได้


“ผมอยากจะจบ session วันนี้ด้วย The Hooked Model ของ Nir Eyal นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมและนักเขียนชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่เคยเขียนหนังสือชื่อ Hooked เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำอย่างไรให้คนใช้แล้วรู้สึกติดและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ใช้ เหมือนเวลาที่เรานึกว่าเราอยากจะค้นอะไรบางอย่าง เรานึกถึงกูเกิล เราอยากจะโพสต์อะไรบางอย่างเรานึกถึงเฟซบุ๊ก เรานึกถึง X เพราะผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ออกแบบมาได้ตอบโจทย์ตาม The Hooked Model ของ Nir Eyal ซึ่งผมคิดว่า ถ้าเรามองว่า ภาครัฐคือผู้ให้บริการประชาชน ผมมีความฝันที่อยากสร้างรัฐที่บอกฉันทุกทุกเรื่องเฉพาะเรื่องที่ฉันสนใจ ฉันอยากจะสร้างรัฐที่มีประตูช่องทางให้ฉันเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ อยากจะสร้างรัฐที่ทำให้ทุกๆ การกระทำของฉันในฐานะประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมแล้วรู้สึกมีความหมายได้รับอะไรตอบกลับมา ผมอยากจะสร้างรัฐที่ทำให้ตัวฉันเองหรือประชาชนทุกคนรู้สึกว่าฉันเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ 


“การที่รัฐบอกฉันทุกเรื่อง ก็คือการ trigger รัฐที่เปิดประตูช่องทางให้เข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยสะดวกก็คือ action รัฐที่ทำให้เสียงของฉันมีความหมายก็คือ reward ทำอะไรสักอย่างแล้วรู้สึกว่าเสียงของฉันมีความหมายและเกิดผลขึ้นจริง สุดท้าย เดินออกไปหน้าบ้านถนนนี้ฉันเป็นคนโหวต กฎหมายฉบับนั้นฉันเป็นคนให้ความเห็น รู้สึกว่าประเทศนี้ฉันเป็นคนสร้างมันขึ้นมา ต่อไปบริการภาครัฐรวมถึงรัฐนี้ประชาชนทุกคนจะรู้สึกว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ฉันรักและอยากจะใช้บริการมันทุกๆ วัน อยากจะอยู่ในประเทศนี้ทุกๆ วัน และอยากจะพัฒนาประเทศนี้ให้ดียิ่งขึ้นทุกๆ วัน” 

Share this article via :

TICKET RESERVATION

สำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้

Early Bird Ticket

699

บาท

(ยังไม่รวมค่าธรรมเนียม)

ราคาพิเศษหากซื้อบัตรภายใน 31 ส.ค.นี้
จำนวนจำกัด 150 ที่นั่ง

Regular Ticket

1,200

บาท

(ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมและ VAT)

เปิดจำหน่าย 1 ก.ย.นี้
จำนวนจำกัด 250 ที่นั่ง

Keep Connected

do not hesitate to reach out to us if you have any questions or you would like to contribute to create data-driven society

contact@dataconth.com
Follow us
All rights reserved 2024 © Boonmee Lab Co.,Ltd.
Made by Boonmee Lab with UXD Template