DataCon2024

Talk-Napon Jatusripitak

activity Talk-Napon Jatusripitak

Talk-Napon Jatusripitak

09.10.2024

หนึ่งในสปีกเกอร์ช่วง Talk ของงาน Data Con 2024 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา คือ ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์ สถาบันวิจัย ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ ซึ่งมานำเสนอในหัวข้อ “การเมืองแบบไข่ดาวหลายใบ: อ่านพลวัตการเมืองใหม่ผ่านข้อมูลเลือกตั้ง”


ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นำทฤษฎีการเมืองไทยสุดคลาสสิกมาเรียบเรียงใหม่ อัปเดตด้วยชุดข้อมูลปัจจุบันเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ของพลวัตการเมืองการเลือกตั้งของไทย ผ่านงาน ‘A new tale of two democracies? The changing urban–rural dynamics at Thailand’s 2023 general elections’ ที่ทำร่วมกับ Allen Hicken และ เมธิส โลหเตปานนท์ 


Hed-5 (1).jpg

“มีใครเคยสงสัยเหมือนผมบ้างไหมครับว่า ประเทศไทยเราเป็นอะไร ทำไมถึงมีรัฐประหารทุกๆ 7 ปีโดยเฉลี่ย ยกมือได้นะครับ มีใครสงสัยต่อไปไหมครับว่า ด้วยเหตุผลอะไรชนชั้นกลางในเมืองในประเทศไทย ถึงมีแนวโน้มที่จะหันหลังให้กับประชาธิปไตยและหันไปสนับสนุนขบวนการที่นำไปสู่การหวนคืนสู่อำนาจของระบอบเผด็จการ”


ณพล เล่าถึงหนึ่งในทฤษฎีที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการอธิบายถึงปรากฏการณ์เหล่านี้จากหนังสือสองนคราประชาธิปไตย ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ตั้งข้อสังเกตถึงความเข้าใจและความคาดหวังในระบอบประชาธิปไตยของคนเมืองและคนชนบทที่แตกต่างกัน ในมุมของคนเมืองที่ที่เข้าถึงทรัพยากรที่เพียงพอ การงานที่มีรายได้ค่อนข้างดี และมีความมั่นคงสูง สาธารณูปโภคพื้นฐานที่ค่อนข้างครบถ้วน และบริการจากภาครัฐที่ค่อนข้างมีคุณภาพ องค์ประกอบเหล่านี้ส่งเสริมให้คนเมืองมักจะมีแนวคิดทางการเมืองในฐานะปัจเจก ให้ความสำคัญด้านประเด็นสาธารณะ นโยบายและอุดมการณ์ ทำให้คนเมืองมองว่าการเลือกตั้งคือการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถเข้าไปตำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนคนชนบทมีฐานะด้อยกว่าและมีข้อจำกัดการเข้าถึงทรัพยากร จึงมองการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการต่อรองเพื่อดึงทรัพยากรและความช่วยเหลือจากภาครัฐเข้ามาในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้นักการเมืองที่เป็นที่นิยมในชนบทมักจะเป็นผู้มีอิทธิพล


ส่วนนักการเมืองชนบทในสายตาของคนเมืองจะมีภาพลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ การซื้อเสียง และการทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้งนี้จึงนำมาสู่ขบวนการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีคนเมืองเป็นองค์ประกอบหลัก เกิดเป็นวลีที่ว่า ‘คนชนบทตั้งรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล’ โดยที่คนชนบทเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่คนเมืองเป็นเสียงส่วนน้อย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่ตั้งจากการสมรู้ร่วมคิดระหว่างนักการเมืองทุจริตกับคนชนบท ผ่านระบบอุปถัมป์


ณพล ชี้ว่า อัตราส่วนของผู้มีอาศัยอยู่ในเมืองมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จาก 30% เพิ่มเป็น 50% ในปี 2019 ในอีกมุมหนึ่งมันคือการขยายตัวของพื้นที่เมือง ขณะที่มีประชากรจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาอาศัยในเมืองและกลับไปเลือกตั้งในชนบท ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและนิยามของความเป็นคนเมืองและคนชนบท แทนที่ทฤษฎีสองนคราฯ จะถูกหักล้าง แต่กลายเป็นว่ายิ่งได้รับความนิยมและความยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคสงครามสีเสื้อ ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหารในปี 2549 ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ในช่วงเวลานั้น พรรคการเมืองที่สามารถชนะเลือกตั้งในกรุงเทพฯ กลับเป็นคนละพรรคกับพรรคการเมืองที่สามารถสร้างคะแนนนิยมได้ค่อนข้างดีในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยรวม


การเกิดขบวนการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเวลานั้น มีส่วนประกอบเป็นชนชั้นกลางในเมืองเป็นหลัก แต่ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามคือทฤษฎีสองนคราฯ และเส้นแบ่งระหว่างชนบทและเมือง ยังมีส่วนสำคัญต่อการอธิบายผลลัพธ์ทางการเมืองไทยหรือไม่ เพราะพรรคก้าวไกลนั้นสามารถชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ และยังสามารถชนะการเลือกตั้งในหลายจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ 


“นอกจากนี้หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะสังเกตได้ว่าพรรคก้าวไกลนั้นมาเป็นที่หนึ่งหรือที่สองใน 400 เขตการเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมที่กระจายตัวอย่างกว้างขวาง และก้าวข้ามพรมแดนเดิมระหว่างเมืองและชนบท ในงานวิจัยที่ทำนั้น เราพบว่าเส้นแบ่งระหว่างเมืองและชนบทนั้นยังคงมีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบและแนวทางในการหาเสียงของนักการเมืองและพรรคการเมือง รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านผลการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เราได้ข้อสังเกตว่าเส้นแบ่งระหว่างเมืองและชนบทนี้ไม่ได้อยู่ในรูปแบบดั้งเดิมที่เมืองคือ กรุงเทพฯ และชนบทคือต่างจังหวัด เราพบว่ามันได้ถูกแปรรูปไปเป็นลักษณะที่เรียกว่า ไข่ดาวหลายใบ”


ไข่ดาวหลายใบเป็นคำที่ได้ยินจากปากนักการเมืองที่เขาได้พูดคุยด้วยในช่วงสองอาทิตย์ก่อนเลือกตั้ง โดยไข่แดงคือศูนย์กลางความเจริญ เช่น มีห้างสรรพสินค้า มีโรงพยาบาล เป็นเขตเทศบาล ที่ล้อมรอบด้วยไข่ขาว ซึ่งหมายถึงพื้นที่การเกษตร พื้นที่ชนบท เขตตำบล 


“ผู้สมัครพรรคก้าวไกลท่านหนึ่งในภาคอีสานบอกว่า พื้นที่ไข่แดง เขามักจะอาศัยนโยบายที่มีส่วนผสมของความเป็นอุดมการณ์ค่อนข้างมาก เช่น การปฏิรูปกองทัพและการเกณฑ์ทหาร ในขณะที่พื้นที่ไข่ดาว เช่น เรื่องนโยบายเศรษฐกิจ เช่น เบี้ยคนชรา


“เช่นเดียวกัน ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐท่านหนึ่งในจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง บอกกับผมว่า พื้นที่ไข่แดง เขาเน้นเรื่องของการฉีดยุง ให้บริการฐานเสียง ขณะที่พื้นที่ที่เป็นไข่ดาว เขาอาศัยเครือข่ายผู้นำชุมชน เครือข่ายที่ว่านี้ก็คือเครือข่ายหัวคะแนน ซึ่งเขาโม้ให้ฟังว่ามีประสิทธิภาพถึงขั้นว่าแม้แต่เสียงเข็มตกเขายังได้ยิน”


การที่นักการเมืองและพรรคการเมืองอาศัยยุทธศาสตร์ที่ไม่เหมือนกันในโซนไข่แดงและไข่ดาว จริงๆ ก็สอดคล้องไม่น้อยกับใจความบางส่วนของทฤษฎีของ เอนก เหล่าทรรศทัศน์ อย่างไรก็ตาม พวกเขามองว่า เส้นแบ่งระหว่างเมืองและชนบทนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดอีกต่อไป แต่มีให้พบให้เห็นได้ในทุกพื้นที่ แทบจะทุกเขตเลือกตั้งเลยด้วยซ้ำ


“ภาพถ่ายค่าเฉลี่ยของแสงสว่างในเวลากลางคืนจากดาวเทียมของนาซ่า สะท้อนถึงแนวคิดที่พูดถึงก่อนหน้านี้ แสงสว่างกระจุกอยู่ในบริเวณที่เป็นเมือง ล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่มืดกว่าซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่เป็นชนบท หากเอาการแบ่งพื้นที่เขตเลือกตั้งมาซ้อนกัน สิ่งที่เห็นก็คือ ทุกเขตเลือกตั้งนั้นมีส่วนผสมของแสงสว่างและบริเวณที่มืดกว่าซึ่งสะท้อนถึงระดับความเป็นเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้ง คำถามที่ตามมาในงานวิจัยก็คือ ระดับความเป็นเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้ง มีความสัมพันธ์อย่างไรกับคะแนนนิยมที่แต่ละพรรคได้รับ


“ในการวัดระดับความเป็นเมือง จะใช้ข้อมูล 3 ชุด ได้แก่ ความหนาแน่นของประชากรจาก Meta ค่าเฉลี่ยของแสงสว่างในเวลากลางคืนจากนาซ่า และข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากกรมพัฒนาที่ดิน โดยข้อมูลทั้ง 3 ชุดนำมาพัฒนาเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยอยู่บนข้อสันนิษฐานว่าเมืองคือ พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น มีการใช้แสงสว่างในเวลากลางคืนและมีการใช้ที่ดินที่เน้นสร้างสิ่งปลูกสร้างมากกว่าเป็นพื้นที่การเกษตร ​​


DSC08027.jpg

เมื่อนำดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองมาหาค่าความสัมพันธ์กับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับในการเลือกตั้งแบบเขต พวกเขาได้คำตอบว่า พรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติ คือสองพรรคที่สามารถทำคะแนนได้ค่อนข้างดีในพื้นที่ที่เป็นเมือง ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทยและพลังประชารัฐ ทำคะแนนได้ดีกว่าในพื้นที่ชนบท 


อย่างไรก็ตาม ณพลระบุถึงข้อจำกัดของการวิเคราะห์อย่างน้อยสามประการ ประการแรก คือ ไม่ได้ควบคุมถึงตัวแปรกวน เช่น การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า สอง เนื่องจากเป็นการวิเคราะห์ในระดับเขตเลือกตั้ง จึงจะไม่ทราบว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทในเขตเลือกตั้งที่โดยรวมมีความเป็นเมืองสูง จะเลือกไปในทิศทางที่ขัดแย้งกันหรือไม่ สาม งานนี้ไม่ได้สำรวจความคิดเห็น ดังนั้นจะไม่รู้เลยว่าคนเลือกพรรคการเมืองใดด้วยเหตุผลใด 


“แต่ถ้าให้เดาโดยสมมติว่าไม่มีข้อจำกัดเหล่านี้ ผมมองว่าการที่พรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติสามารถทำคะแนนได้ดีในพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองสูง สะท้อนถึงการที่คนเมืองให้การตอบรับต่อกระแสของพรรคการเมืองของสองพรรคนี้ถึงสะท้อนออกมาผ่านตัวแทนแคนดิเดตนายกฯ ที่มีความโดดเด่น รวมถึงจุดยืนเชิงอุดมการณ์ที่มีความชัดเจนมากที่สุดในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในขณะที่พรรคเพื่อไทย สะท้อนถึงฐานเสียงในกลุ่มรากหญ้าในพื้นที่ชนบทที่ยังคงให้ความศรัทธาบทบาทของพรรคในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ส่วนภูมิใจไทยกับพลังประชารัฐ สะท้อนถึงปรากฏการณ์บ้านใหญ่ และเครื่องจักรทางการเมืองที่มีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชนบทมากกว่าในเมือง


“การตีความในลักษณะนี้โดยผิวเผิน เหมือนจะตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของทฤษฎีสองนคราฯ แต่ที่จริงแล้วลึกซึ้งกว่านั้น เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ‘เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ’ ปัญหาก็คือคนที่รักมักไม่ได้สังกัดพรรคที่ชอบ เช่น ก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 14 ล้านเสียง ในแบบบัญชีรายชื่อ แต่ชนะ 9 ล้านกว่าเสียง ในแบบเขต ความหมายคือ เกือบ 5 ล้านเสียงเลือกก้าวไกลในแบบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่ได้เลือกผู้สมัครของพรรคก้าวไกล ปรากฏการณ์นี้เราเรียกว่า ballot splitting หรือการแบ่งคะแนน”


หากวิเคราะห์ดูในระดับเขตเลือกตั้ง พบว่ามีถึง 186 เขตที่เกิดปรากฏการณ์ 1 เขต 2 พรรค โดยการแบ่งคะแนนนี้เป็นที่แพร่หลายมากในพื้นที่ในชนบท ในขณะที่เขตเลือกตั้งที่มีความเป็นเมืองสูง มีแนวโน้มที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัคร ไปในทิศทางเดียวกัน


“การที่คนชนบทนั้นสามารถเลือกพรรคการเมืองกับผู้สมัครแบบแยกกันได้ สะท้อนถึงอำนาจต่อรอง และอิสรภาพในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งโดยตรงกับภาพของทฤษฎีสองนคราฯ ที่มักจะมองว่า คนชนบทนั้นถูกครอบงำ ถูกหลอก หรือเป็นเหยื่อของระบบอุปถัมภ์ 


“สอง เรามองว่ามันสะท้อนถึงสองนคราฯ ในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท คนชนบทน่าจะต้องการพรรคการเมืองที่สามารถตอบโจทย์และทำงานได้ในมิติของนโยบายและอุดมการณ์ อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังต้องการผู้แทนที่ยังสามารถเข้าถึงง่าย และเข้ามาอุดช่องโหว่ที่ยังหลงเหลืออยู่ของสังคมที่โครงสร้างของรัฐ งบประมาณและทรัพยากรต่างๆ เป็นแบบรวมรวมศูนย์

Hed-22 (1).jpg


“สุดท้ายนี้ ตอนที่เตรียมงาน ทีมงานแซวว่าผมมีแต่บทเรียนให้กับนักการเมือง แต่ไม่มีบทเรียนให้กับคนทั่วไป สิ่งที่ผมหวังก็คือผลงานวิจัยชิ้นนี้จะสะท้อนถึงข้อเท็จจริงบางอย่างว่าไม่ว่าคุณจะเป็นคนเมือง คนชนบท คนที่มีฐานะดี หรือฐานะด้อย สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ วิจารณญาณทางการเมือง ในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับตนเอง ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนยึดมั่นในหลักการนี้ และให้การเคารพเสียงทุกเสียง เปิดโอกาสให้กับทุกคนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้ง เพื่อที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยจะได้สะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงในสังคม ไม่ใช่ประชาธิปไตยของใครคนใดคนหนึ่ง”

Share this article via :

TICKET RESERVATION

สำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้

Early Bird Ticket

699

บาท

(ยังไม่รวมค่าธรรมเนียม)

ราคาพิเศษหากซื้อบัตรภายใน 31 ส.ค.นี้
จำนวนจำกัด 150 ที่นั่ง

Regular Ticket

1,200

บาท

(ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมและ VAT)

เปิดจำหน่าย 1 ก.ย.นี้
จำนวนจำกัด 250 ที่นั่ง

Keep Connected

do not hesitate to reach out to us if you have any questions or you would like to contribute to create data-driven society

contact@dataconth.com
Follow us
All rights reserved 2024 © Boonmee Lab Co.,Ltd.
Made by Boonmee Lab with UXD Template