DataCon2024

Talk-Eaklak Loomchomkhae

activity Talk-Eaklak Loomchomkhae

Talk-Eaklak Loomchomkhae

09.10.2024

หนึ่งในสปีกเกอร์ช่วง Talk ของงาน Data Con 2024 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา คือ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งมานำเสนอในหัวข้อ "ข้อมูลคนหายอะไรอีกที่หาย นอกจากคน" 

“ทุกท่านทราบไหมครับว่า ในประเทศไทย ทุก 4 ชั่วโมงจะมีคน 1 คนหายออกจากบ้าน เราลองดูนาฬิกาครับ ตอนนี้กี่โมงแล้ว 10 โมงใช่ไหมครับ มีคนอย่างน้อย 2 คนหายออกจากบ้านไป เราเหลือโควต้าอีก 4 คนครับตอนนี้ มีใครอยากได้รับโควต้านี้ไหมครับ ไม่มีนะครับ เพราะอะไรครับ แม้แต่ตัวเราเองหรือคนที่เรารัก เราก็ไม่อยากให้หายออกจากบ้านไปใช่ไหมครับ ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าการทำงานติดตามคนหายเป็นอย่างไร”

เอกลักษณ์2.jpg

มูลนิธิกระจกเงาเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการตามหาคนหายในสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข เป็นคนที่ทำงานตามหาคนหายร่วมกับมูลนิธิกระจกเงาตั้งแต่จุดเริ่มต้น ในวันที่สังคมยังมองเรื่องคนหายเป็นเรื่องไกลตัว เอกลักษณ์ยังยืนหยัดทำงานเคียงข้างครอบครัว ญาติ เพื่อติดตามคนหายเรื่อยมา จนนอกจากจะพบคนหาย ยังทำให้พบ 'ความจริง' บางอย่างที่สะท้อนเบื้องหลังสังคมไทยได้อย่างที่น่าตื่นเต้นและน่าตื่นตะลึง ในฐานะหัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย เอกลักษณ์ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการติดตามคนหายว่ามีกระบวนการที่ซับซ้อนและท้าทายเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการเก็บข้อมูล ทรัพยากรบุคคล และระบบการทำงาน


“เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว มูลนิธิกระจกเงาทำงานอยู่ที่ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เราทำงานเรื่องค่ายเยาวชน จิตอาสา ครูบ้านนอก เด็กไร้สัญชาติ วันหนึ่ง มีชาวบ้านคนหนึ่งเดินเข้ามาที่มูลนิธิขอความช่วยเหลือเพราะลูกสาวหายออกจากบ้านไป เราไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้เลย สิ่งที่เราทำได้ก็คือให้คำแนะนำที่คิดว่าดีที่สุดคือให้ไปแจ้งความที่โรงพัก ชาวบ้านคนนั้นก็เดินออกจากมูลนิธิไป เวลาผ่านไป 1  ปี ชาวบ้านคนเดิมกลับมา แต่รอบนี้ร้องไห้กลับมา บอกว่า 1 ปีที่ผ่านไปลูกสาวของเธอยังไม่กลับบ้านเลย”

เอกลักษณ์3.jpg

จุดเริ่มต้นการทำงานตามหาคนหายของมูลนิธิกระจกเงามาจากกรณีการตามหาลูกสาวของชาวบ้านใน ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ที่หายตัวไป ในช่วงเวลานั้นมูลนิธิยังขาดทั้งประสบการณ์และทรัพยากร จึงทำได้เพียงแนะนำให้ครอบครัวไปแจ้งความกับตำรวจ แต่กระบวนการดังกล่าวกลับไม่ช่วยให้สามารถหาตัวคนหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ในครั้งนั้นคือคนหายกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์-การค้าบริการทางเพศ 


“เราลงไปสำรวจข้อมูลใน ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย และพบว่า 1 ตำบลที่มีประมาณ 19 หมู่บ้านมีคนหายออกจากบ้านไปเกือบ 20 คน ต่อมความสงสัยเริ่มทำงานครับ ถ้า 1 ตำบล คนหายไป 20 คน ทั้งอำเภอคนหายไปเท่าไหร่ แล้วถ้าเป็นทั้งจังหวัดหายไปเท่าไหร่ และคนหายทั้งประเทศนี้มีเท่าไหร่ กระบวนการในการจัดการคืออะไร นี่คือสิ่งที่เป็นจุดกำเนิดของโครงการศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์” 

เอกลักษณ์4.jpg

หลังจากก่อตั้งโครงการนี้และย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำให้พบว่าการหายตัวของบุคคลไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เพียงอย่างเดียว การหายตัวของบุคคลเริ่มตั้งแต่เกิดเป็นทารกและอยู่รอดจนถึงเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งเว็บไซต์ติดตามคนหายชื่อ "Back to Home" อันได้แรงบันดาลใจจากวลี “Back to School” เพื่อให้การตามหาคนหายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้การจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบฐานข้อมูล (Database) ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกนั้นยังขาดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล ทำให้ข้อมูลส่วนมากถูกบันทึกลงบนกระดาษ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การใช้ระบบดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลก็ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการตามหาคนหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


“ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของเราน้อย แล้วเราคิดว่าสิ่งที่เราทำได้ก็คือการรับแจ้งแบบจดบันทึกลงในแบบฟอร์ม ลงในกระดาษและใช้ความจำ บันทึกข้อมูลลงใน database น้อยมากครับ เพราะเราไม่เชื่อ เราเชื่อว่าการจดบันทึกข้อมูลในกระดาษเป็นสิ่งที่ทำให้เราจำมันได้ง่ายที่สุด แต่ไม่ใช่เลยครับ พอระยะเวลาผ่านไป เวลามีคนโทรมาติดตามเรื่อง เวลามีญาติที่เขายังไม่เจอตัวโทรมาหาเรา เราจำข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ครับ ที่สำคัญเมื่อมีนักข่าวมาถามว่า 1 ปีที่ผ่านมา กระจกเงารับแจ้งคนหายไปแล้วกี่ราย เราตอบไม่ได้ครับ แม้ว่าเราจะมี database เพราะเราบันทึกบ้างไม่บันทึกบ้าง บันทึกใส่กระดาษก็มี ใช้ความจำก็มี นี่จึงเป็นที่มาที่ไป ที่เราให้ความสำคัญกับระบบการรับแจ้ง และบันทึกทุกข้อมูลลงในฐานข้อมูล มันนำมาซึ่งสถิติ นำมาซึ่งการวิเคราะห์ปัญหา”


ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา มีผู้แจ้งคนหายทั้งหมด 18,887 ราย โดยพบตัวแล้ว 16,315 ราย หรือคิดเป็น 86% ของการแจ้งเหตุ และมี 2,232 รายที่ยังอยู่ระหว่างการติดตาม ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เชื่อมั่นว่ามูลนิธิกระจกเงามีฐานข้อมูลคนหายที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มีช่วงเวลาหนึ่งที่การดำเนินงานของมูลนิธิกระจกเงาเกือบต้องหยุดชะงัก เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน มูลนิธิไม่สามารถจ้างเจ้าหน้าที่ทำงานได้ ทำให้ต้องตัดสินใจปิดตัวลงและคืนงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ แต่ประชาชนก็ยังคงโทรมาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิอยู่ เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้เต็มที่ ทำให้มูลนิธิกระจกเงาต้องกลับมาทำงานบางส่วน จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากนิตยสารแพรวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มูลนิธิกระจกเงาสามารถเดินหน้าติดตามคนหายต่อไปจนถึงปัจจุบัน


“วันแรกที่เราปิดตัวลง ยังมีชาวบ้านโทรมาแจ้งเรื่องอยู่ เราให้เขาโทรหาตำรวจ โทรหากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แต่สายเหล่านั้นยังโทรกลับมาหาเราอยู่ เพราะหน่วยงานราชการให้ความช่วยเหลือเขาไม่ได้ ลูกยังหายไปอยู่ คนในครอบครัวเขายังหายไปอยู่ เราเริ่มให้การช่วยเหลือเป็นบางเคส เพราะเราเห็นว่าถ้าไม่ช่วยเขา ระหว่างรอยต่อของการที่จะเปลี่ยนผ่าน มีคนตกหล่นไปจากกระบวนการยุติธรรม ตกหล่นไปจากความช่วยเหลือที่ควรจะได้รับ 


“จนวันหนึ่ง นิตยสารแพรวโทรมาหาเรา ก่อนที่เราจะปิดตัวไปปีหนึ่ง เขาเคยมาสัมภาษณ์เรื่องเด็กหาย เขาเขียนระดมทุนในคอลัมน์ที่เขาเอาไปลงเป็นบทความ เขาบอกว่า การระดมทุน 1 ปีเสร็จแล้ว ให้มารับเงินบริจาค ในใจผมคิดว่าอาจจะรับเงินเป็นหลักพันหรือหลักหมื่น ผมไปยืนอยู่บนเวทีโดยไม่รู้ครับว่าเขาจะสนับสนุนเราเท่าไหร่ จนชะโงกหน้าไปมองป้าย วันนั้นเราได้การสนับสนุน 6 แสนบาท นี่ทำให้เราเดินต่อได้ ทำให้เรามีฐานข้อมูลคนหาย และทำให้เราติดตามคนหายได้จนถึงทุกวันนี้” 


การติดตามคนหายนั้น นอกจากการค้นหาตัวบุคคล มูลนิธิยังพบข้อมูลสำคัญบางอย่าง เช่น ในกรณีเมื่อ 12 ปีก่อน ที่มีผู้หญิงแจ้งว่าสามีของเธอที่ขับรถกระบะรับจ้างได้หายไป ต่อมามีรายงานคนขับรถกระบะรับจ้างหายไปในสถานการณ์เดียวกันถึง 4 รายในเดือนเดียวกัน มูลนิธิได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในฐานข้อมูลที่จัดเก็บไว้ พบว่าทุกคนถูกว่าจ้างให้ไปขนของและหายตัวไปหลังจากไปถึงจังหวัดเพชรบุรี จากการทำงานร่วมกับรายการสถานีประชาชนของไทยพีบีเอส มูลนิธิพบว่ามีผู้หายไปในลักษณะเดียวกันอีก 5 ราย รวมเป็นทั้งหมด 9 ราย กองปราบปรามได้ทำการสืบสวนและพบว่านี่คือเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่อง ที่ฆาตกรสวมรอยเป็นผู้ว่าจ้าง หลอกคนขับรถให้ดื่มกาแฟผสมยาฆ่าแมลง เพื่อนำรถกระบะไปขายต่อที่หาดใหญ่ แต่ต่อมาฆาตกรได้ผูกคอตายในห้องขังหลังถูกจับกุม


“ข้อมูลที่กระจัดกระจาย สามารถยับยั้งไม่ให้เกิดคนขับรถกระบะรายใหม่ที่ต้องสังเวยชีวิตในเหตุการณ์แบบนี้ ความยุติธรรมอาจจะจางหายไปจากการที่ผู้ต้องหาอาจจะถูกฆ่าตัดตอนหรือตัดตอนตัวเองไปก่อนแล้วก็ได้ แต่มันทำให้คนขับรถกระบะรับจ้างอีกหลายครอบครัวไม่ต้องสังเวยชีวิต เพราะเขาเป็นเสาหลักของครอบครัว ถ้าหากว่าเขาหายไปอีกสักคนสองคนชีวิตครอบครัวก็คงไปต่อไม่ได้ นี่คือการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายแล้วสามารถยับยั้งอาชญากรรมต่อเนื่องได้”

อีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาการจัดการข้อมูลในประเทศไทย คือ การค้นหาหญิงสาวอายุ 19 ปี ที่หายตัวไปนานถึง 7 ปี แม่ของเธอได้รับข้อความจากเพื่อนของคนหายว่าไปทำงานต่างประเทศ แต่ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง จนในที่สุดเมื่อไม่มีข้อมูลการทำงานหรือการเคลื่อนไหวทางราชการใดๆ มูลนิธิได้ลงพื้นที่และรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง พบว่าหญิงสาวรายนี้เคยมีความสัมพันธ์กับ ผอ. โรงเรียนคนหนึ่ง และเธออาจเป็นเหยื่อของการฆาตกรรม 

“เราคิดว่าการหายตัวไป 7 ปี มันมีข้อสงสัยบางประการ เราดูข้อมูลในระบบต่างๆ คนหายไม่มีความเคลื่อวไหวในระบบเลย บัตรประชาชนหมดอายุไม่ไปต่อ ข้อมูลประกันสุขภาพ ข้อมูลประกันสังคมไม่ปรากฏการทำงานที่ไหน ไม่เคยทำพาสปอร์ต ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศ ไม่มีชื่ออยู่ในเรือนจำ ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในสารบบของราชการเลยเป็นระยะเวลานาน จากประสบการณ์เราสงสัยว่าเขาอาจเสียชีวิตไปแล้ว และอาจเป็นศพนิรนามไม่ทราบชื่ออยู่ที่ไหนสักแห่ง ข้อเท็จจริงจะปรากฏก็ต่อเมื่อเราไปหาข้อมูลในพื้นที่ เราลงไปคุยกับพ่อแม่ คุยตั้งแต่เกิด เขาเกิดมาอย่างไร เรียนที่ไหน มีแฟนอายุเท่าไร เกเรไหม เคยทำงานอะไรมาก่อน มีพฤติกรรมอย่างไร จนรู้มาว่า ก่อนที่จะหายตัวไป เธอมีผู้ชายมาติดพัน และผู้ชายคนนั้นเป็นข้าราชการในระดับ ผอ.โรงเรียน ที่ชอบใช้ความรุนแรง”

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนำไปสู่การค้นหาศพนิรนามในรัศมี 200 กิโลเมตรจากจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่เธอทำงาน 

“เราเดินไป 10 หน่วยงาน ไปที่นิติเวชโรงพยาบาลต่างๆ ที่อยู่รอบจังหวัดปราจีนบุรี ไปที่ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว บุรีรัมย์ เราไปดู database ของโรงพยาบาลที่เขาเก็บเอาไว้ เป็นข้อมูลที่เก็บใส่สมุดเอาไว้ ไปไล่เปิดดูว่าเมื่อปี 2555 หรือ 2556 มีหญิงเสียชีวิตไม่ทราบชื่อหรือไม่ มันเยอะมาก ใน 10 โรงพยาบาล มีอยู่โรงพยาบาลหนึ่งที่พบศพหญิงสาวเสียชีวิตในไร่อ้อย โรงพยาบาลนั้นคือโรงพยาบาลวัฒนานคร ความใกล้เคียงของข้อมูลในสมุดบันทึกศพระบุว่า หญิงสาวเสียชีวิตในไร่อ้อย คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 7 วัน มีรอยสักที่ข้อเท้า คนหายเรามีรอยสักที่ข้อเท้า 

“สิ่งที่เราทำได้คือไปดูว่าศพศพนี้หลังจากเข้ามาที่นิติเวชโรงพยาบาลวัฒนานครแล้ว ศพถูกส่งไปชันสูตรที่ไหน ศพถูกส่งไปชันสูตรที่นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ ก็ตามต่อว่า ศพนี้มีข้อมูลอย่างไร ปรากฏว่าศพถูกเก็บ DNA เอาไว้ โชคดีมาก ลองนึกภาพว่า ถ้าให้คุณพ่อคุณแม่คนหายไปตามเรื่องแบบนี้ มันเป็นเรื่องยากมากที่จะได้ข้อเท็จจริงมา


“เราเอา DNA มาตรวจเทียบกัน ปรากฏว่าหญิงสาวที่เสียชีวิตในไร่อ้อย DNA ตรงกับแม่คนหาย ผลการชันสูตรศพ ศพนี้ถูกยิงเสียชีวิตด้วยอาวุธปืน เสียชีวิตนานอยู่ 7 ปีไม่มีใครตามหา ไม่มีใครสงสัยว่าผู้หญิงที่นอนตายในไร่อ้อยเป็นใคร ไม่สงสัยว่ามีใครตามหาหรือไม่ หลังจากทราบว่าเธอถูกยิงเสียชีวิตแล้ว แปลว่ามีฆาตกร ศพถูกทิ้งอยู่ที่ปากทางเข้าโรงเรียนที่ ผอ.ที่มาติดพันเธอสอนหนังสืออยู่ ตำรวจสอบสวนกลาง ทำการสืบสวนสอบสวน จนสามารถจับกุม ผอ. คนนี้ได้ ”


อย่างไรก็ตาม ความยากลำบากในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับศพนิรนามในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาใหญ่ จากการขาดกฎหมายและระบบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลศพนิรนาม ทำให้หลายศพถูกทำลายหรือฝังโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างเหมาะสม ทำให้บางกรณีถึงแม้จะสามารถระบุได้ว่าผู้หายได้เสียชีวิตแล้ว แต่ครอบครัวก็ไม่สามารถนำร่างกลับบ้านได้ เพราะศพถูกทำลายไปในขั้นตอนการล้างป่าช้า นอกจากนี้ การที่ศพนิรนามหลายศพไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดก็ส่งผลให้การสืบสวนคดีฆาตกรรมไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มที่

อีกหนึ่งโครงการสำคัญของมูลนิธิกระจกเงาคือการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่หายตัวไปจากการหลงลืมหรือป่วยเป็นอัลไซเมอร์ โครงการ ‘ริสแบนด์หายไม่ห่วง’ ได้รับการสนับสนุนจากนักพัฒนาโปรแกรมจากบริษัท อินเนอร์เจติกเทกนิคอล เอนจีเนียริ่ง จำกัด ที่ออกแบบระบบริสแบนด์พร้อม QR Code ช่วยในการติดตามผู้สูงอายุที่พลัดหลง

“ริสแบนด์นี้ทำในรูปแบบของระบบทะเบียน มีทีมงานเป็นแอดมินอยู่หลังบ้าน มีสายด่วนในการรับแจ้งเหตุ 24 ชม. เมื่อมีการสแกนข้อมูลแล้ว คนสแกนจะไม่รู้ว่าผู้ป่วยเป็นใคร รู้แค่ว่าเลขทะเบียนอะไร ทีมงานหลังบ้านเราจะเป็นคนดูเลขทะเบียนให้”

ตลอด 4 ปีที่เกิดโครงการนี้ มีครอบครัวที่ดูแลผู้สูงอายุประมาณ 3,000 ครอบครัวเข้าร่วมโครงการนี้ และในแต่ละเดือน มีผู้สูงอายุประมาณ 5-10 รายที่ได้รับการช่วยเหลือให้กลับบ้านอย่างปลอดภัยจากการสวมใส่ริสแบนด์ 

“เราอาจจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่บางอย่างลดดีกรีความรุนแรงของปัญหาลงได้”

สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญที่มูลนิธิกระจกเงาย้ำเตือนคือการใช้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาสังคม ไม่เพียงแค่ความสามารถด้านเทคนิคหรือการจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่หัวใจของการทำงานนี้คือการมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้คนและคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย

Share this article via :

TICKET RESERVATION

สำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้

Early Bird Ticket

699

บาท

(ยังไม่รวมค่าธรรมเนียม)

ราคาพิเศษหากซื้อบัตรภายใน 31 ส.ค.นี้
จำนวนจำกัด 150 ที่นั่ง

Regular Ticket

1,200

บาท

(ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมและ VAT)

เปิดจำหน่าย 1 ก.ย.นี้
จำนวนจำกัด 250 ที่นั่ง

Keep Connected

do not hesitate to reach out to us if you have any questions or you would like to contribute to create data-driven society

contact@dataconth.com
Follow us
All rights reserved 2024 © Boonmee Lab Co.,Ltd.
Made by Boonmee Lab with UXD Template